รู้เขา

04 ตุลาคม 2562
อ่าน 3 นาที

​​​​รู้จักคนขาย​


 

ผู้ระดมทุน : 

ผู้ระดมทุน ICO เป็นบริษัทไทยที่ต้องการเงินทุนมาพัฒนาในโครงการใหม่ๆ จึงออกโทเคนของตัวเองเพื่อแลกกับคริปโทฯ ที่จะเอาไปใช้พัฒนาระบบงาน โดยโทเคนเหล่านี้จะนำมาใช้ในโครงการได้ตามที่ผู้ระดมทุนกำหนด ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาสิทธิที่จะได้รับให้ดีและถี่ถ้วน และโครงการที่บริษัทจะทำอาจเป็นเพียงไอเดียและอาจใช้เทคโนโลยีที่ไม่เคยมีมาก่อน จึงมีความเสี่ยงสูงมากที่โครงการจะไม่สำเร็จ การออกโทเคนควรจะมีประโยชน์กับการสร้าง ecosystem ของโครงการ และไม่ใช่ทุกธุรกิจที่จะเหมาะกับการระดมทุนในรูปแบบ ICO  

ผู้กลั่นกรอง : 
ICO Portal หรือผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล จะทำหน้าที่หลัก 2 ด้าน คือ
1. กลั่นกรอง ICO ที่จะเสนอขายต่อผู้ลงทุน เพื่อลดโอกาสการเกิด scam โดยทำหน้าที่คล้ายที่ปรึกษาทางการเงิน ในการศึกษาข้อมูลของบริษัทและข้อมูลการเสนอขายโทเคน (due diligence) คัดกรองโครงการ สอบทานแผนธุรกิจ กลั่นกรองความถูกต้องชัดเจน และความครบถ้วนของข้อมูลในเอกสารประกอบการเสนอขาย ตรวจสอบว่าสัญญาอัจฉริยะ (smart contract)* ที่เปิดเผยบนเว็บไซต์ สอดคล้องกับ white paper หรือไม่ และมีหน้าที่ชี้แจงต่อ ก.ล.ต. และผู้ลงทุน เมื่อผู้ออกโทเคนไม่ดำเนินการตามข้อมูลที่แสดงไว้ ใช้เงินไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ในการระดมทุน หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการอนุญาต หากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วง 1 ปี หลังแบบแสดงรายการข้อมูลมีผลบังคับใช้

2. เป็นช่องทางการเสนอขาย ICO โดยต้องทำความรู้จักตัวตนของผู้ลงทุน (Know Your Customer – KYC) และพิจารณาความเหมาะสมในการลงทุน (suitability) ของผู้ลงทุนรายย่อย ดูแลไม่ให้ผู้ลงทุนรายย่อยลงทุนเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด** และเก็บรักษาทรัพย์สินของผู้ลงทุน ICO Portal ต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ของ ก.ล.ต. และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.

ดูรายชื่อ ICO Portal ที่ได้รับความเห็นชอบได้ที่  www.sec.or.th/digitalasset​

* สัญญาอัจฉริยะ (smart contract) คือ เงื่อนไขหรือข้อตกลงของสัญญา ที่ถูกเขียนและจัดเก็บไว้ในรูปแบบของรหัสคอมพิวเตอร์ บนบล็อกเชน การบังคับตามสัญญาเป็นไป โดยอัตโนมัติ หากเป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้

** ผู้ลงทุนรายย่อยแต่ละรายสามารถลงทุนได้สูงสุด 300,000 บาท ต่อโครงการ และวงเงินที่ผู้ออก ICO สามารถเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายย่อยต้องไม่เกิน 4 เท่า ของส่วนของผู้ถือหุ้น หรือต้องไม่เกิน 70% ของมูลค่าที่เสนอขายทั้งหมด แล้วแต่มูลค่าใดสูงกว่า

ตัวกลางในการแลกเปลี่ยน :

ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) เป็นศูนย์กลางหรือเครือข่ายในการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโทฯ/โทเคน) โดยการจับคู่หรือหาคู่สัญญาให้ หรือการจัดระบบหรืออำนวยความสะดวกให้ผู้ที่ต้องการจะซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนคริปโทฯ/โทเคน สามารถทำความตกลงหรือจับคู่กันได้โดยทำเป็นทางค้าปกติ​​

นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Broker) เป็นผู้ให้บริการเป็นนายหน้าหรือตัวแทน เพื่อซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโทฯ/โทเคน) ให้แก่คนอื่น เป็นทางค้าปกติ โดยอาจจะส่งคำสั่งไปที่ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลก็ได้

ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Dealer) เป็นผู้ให้บริการหรือแสดงความพร้อมในการให้บริการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโทฯ/โทเคน) ในนามของตนเอง เป็นทางค้าปกติ โดยกระทำนอกศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

โดยตัวกลางที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. มีหน้าที่ เช่น ทำความรู้จักตัวตนของลูกค้า (Know Your Customer – KYC) ประเมินความเหมาะสมในการลงทุนของลูกค้า (suitability test) รวมทั้งต้องแจ้งเงื่อนไขการให้บริการ ช่องทางการติดต่อ สิทธิและหน้าที่ของลูกค้าให้ลูกค้าทราบ นอกจากนี้ ยังต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เช่น มีการจัดการความเสี่ยงที่รัดกุม คำนึงถึง ความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นต้น

ก่อนใช้บริการ ผู้ลงทุนสามารถเช็ครายชื่อผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตเป็น Exchange/Broker/Dealer ได้ที่ www.sec.or.th/digitalasset

รู้จักกลไกตลาด

 
การซื้อขายเปลี่ยนมือ
ผู้ที่สนใจลงทุนในคริปโทฯ หรือผู้ลงทุนที่ต้องการซื้อโทเคนในตลาดรอง หรือผู้ลงทุนที่ถือโทเคน แล้วต้องการขายต่อ สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ผ่านตัวกลาง (Exchange/Broker/Dealer) ที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.
ราคาของสินทรัพย์ดิจิทัลอาจผันผวนมาก และมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง บางตัวอาจจะไม่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนในตลาดรองได้ หรือหากโครงการนั้นๆ หมดความนิยม ก็อาจซื้อขายเปลี่ยนมือได้ยาก
แบบทดสอบก่อนตัดสินใจลงทุน

 

อ่านเพิ่มเติม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง